บทความ: ครอบครัวกับการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
บทความ: ครอบครัวกับการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
พัชรากร สุขสำราญ
นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ
โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต)
แผลกดทับคืออะไร?
การบาดเจ็บเฉพาะที่ของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง อันเกิดจากแรงกดทับที่ผิวหนังเป็นเวลานาน แผลกดทับมีลักษณะผิวหนังทั้งที่ยัง สมบูรณ์และผิวหนังที่เป็นแผล มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่หุ้มกระดูก เช่น ส้นเท้า ข้อเท้า สะโพก หรือกระดูกก้นกบ กลุ่มเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ ประกอบด้วย ผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่ติดเตียง ผู้ที่มีภาวะแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยขาดสารอาหาร ผู้ที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง และผู้ได้รับอุบัติเหตุ
บทบาทของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับที่บ้านเป็นการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลจนมีอาการคงที่แล้ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างปกติสุข ภายใต้สภาพร่างกายที่ยังคงต้องได้รับการดูแลจากผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดและดูแลแผลกดทับในผู้ป่วยได้ ซึ่งผู้ดูแลจะมีบทบาทหรือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบด้วย
- ให้การดูแลผู้ป่วยในมิติกาย เช่น ดูแลด้านอาหาร การทานยา และการทำแผล มิติจิต สังคม เช่นการชวนทำกิจกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย มีความสุข และมิติจิตวิญญาณ เช่น การส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ลดความกังวลและความรู้สึกเป็นภาระ
- ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วย เช่น หากนอนเตียงอาจให้นอนริมหน้าต่าง เพื่อให้ได้มองทัศนียภาพภายนอกด้วย
- ฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย ส่งเสริมการออกกำลังกาย การทำกายภาพบำบัดบนเตียงอย่างเหมาะสม
- จัดหา สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์-ของใช้ ที่จำเป็นต่อการดูแล
- ส่งเสริมด้านโภชนาการให้ครบถ้วน เหมาะสม
ผลกระทบต่อผู้ดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
- ผลกระทบทางด้านร่างกาย การดูแลผู้ป่วยตลอดทั้งวัน ย่อมทำให้ผู้ดูแลมีอาการปวดเมื่อย โดยเฉพาะหลังจากการออกแรงอุ้ม ยกพยุง พลิกตัว อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ดูแลมีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพมากขึ้น
- ผลกระทบทางด้านจิตใจอารมณ์ การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงตลอดวัน บางรายมีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมด้วย ส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล อาจทำให้ผู้ดูแลรู้สึกเครียด และกังวล เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น
- ผลกระทบทางด้านสังคม ผู้ดูแลส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาไปกับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน ทำให้ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับกลุ่มเพื่อน หรือชุมชน นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว จากการผลักภาระการดูแลระหว่างสมาชิกในครอบครัว
- ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ในบางรายใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมถึงของใช้ที่จำเป็นเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย ส่งผลให้รายจ่ายของครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย
การส่งเสริมผู้ดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
เนื่องจากแผลกดทับที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาและความสม่ำเสมอในการดูแลรักษา ทำให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอาจได้รับผลกระทบทางสังคมจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ นักสงคมสงเคราะห์เป็นผู้วางแผนการดูแลทางสังคมร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว จึงควรส่งเสริมการดูแลของผู้ดูแล ดังนี้
- การส่งเสริมให้ผู้ดูแลยอมรับการเจ็บป่วย ความรู้สึกเครียด กังวล การเป็นภาระของผู้ดูแล ส่งผลให้พฤติกรรมและอารมณ์ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ การส่งเสริมให้ผู้ดูแล เข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลงคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย จะทำครอบครัวและผู้ป่วยมีความเข้าใจกันมากขึ้น
- การส่งเสริมความคิดเชิงบวกและเสริมพลังอำนาจ การเสริมพลังอำนาจแก่ผู้ดูแล สามารถทำได้โดยการให้กำลังใจ การรับฟังปัญหาและความรู้สึก จะทำให้ผู้ดูแลมีพลังในการดูแลผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
- การส่งเสริมบทบาทการดูแลในครอบครัว การให้ความรู้ ส่งเสริมความเข้าใจแก่ครอบครัวเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ เพื่อให้เข้าใจบทบาทการดูแลในครอบครัวอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนแบ่งบทบาทหน้าที่ในการดูแล ให้มีผู้ดูแลหลักและผู้ดูแลรอง เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างมีคุณภาพได้
- การแนะนำแหล่งประโยชน์ในการสนับสนุนผู้ดูแล การแนะนำ ประสานส่งต่อเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ที่สามารถให้ความดูแลช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามสภาพปัญหา เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข แหล่งประโยชน์ด้านสังคม เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ศูนย์บริการคนพิการ เป็นการสนับสนุนให้ผู้ดูแลมีพลังในการดูแลได้มากขึ้น
นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์ยังเป็นผู้สนับสนุนให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างเหมาะสม โดยการจัดหาของใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น การติดตามเยี่ยมบ้านหลังจำหน่ายร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รวมถึงการส่งต่อให้หน่วยงานในพื้นที่/อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)/อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(อพม.) ดูแลต่อเนื่องที่บ้านในชุมชน เพื่อให้เกิดการดูแลอย่างเหมาะสม
*******************************