บทความ: นักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลให้บริการอะไรบ้าง
พัชรากร สุขสำราญ
นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ
โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต)
เมื่อพูดถึงนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลนึกถึงอะไร?
หลายคนมักคิดถึงแค่ว่า เป็นคนที่ให้ความช่วยเหลือด้านเงินค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ผิด เพราะการให้ความช่วยเหลือเหล่านั้น ก็ถือเป็นกระบวนการหนึ่งในการแก้ปัญหาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แต่ในโพสต์นี้ เราอยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับบริการที่นักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล เป็นผู้จัดบริการให้กับผู้ป่วยในกลุ่มต่าง ๆ ที่จะทำให้ทุกท่าน อาจเปลี่ยนมุมมองจากคนที่ต้องยากจนเท่านั้น ถึงจะพบกับนักสังคมสงเคราะห์ได้
- บริการให้คำแนะนำ ข้อมูลด้านสวัสดิการสังคม นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่ให้คำแนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิด้านการรักษา สิทธิด้านสวัสดิการสังคมทั้งการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ ความมั่นคงทางสังคม บริการสังคม และนันทนาการ แก่ผู้ป่วย ญาติ หรือประชาชนทั่วไป
- ให้คำปรึกษาบุคคล กลุ่ม ครอบครัว นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่ให้คำปรึกษา จัดกระบวนการที่ช่วยเหลือผู้ป่วย ครอบครัว คู่สมรส เพื่อให้สามารถเข้าใจตนเอง และสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น สามารถเผชิญปัญหา มีทางเลือกที่เหมาะสม และมีการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมแต่ละบุคคล
- จัดทำแผนการดูแลทางสังคม นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่จัดทำแผนการดูแลด้านสังคมในกลุ่มผู้ป่วยก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการวางแผนในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างครอบคลุม ทั้งมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และจิตวิญญาณ ปัญหาหรือความกังวล รวมถึงเครือข่ายการช่วยเหลือ เพื่อให้ครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างเหมาะสมในระยะยาว
- คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ตามกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่ช่วยเหลือ/ประสานส่งต่อหน่วยงานภายใน-ภายนอก ด้านกฎหมายเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่อการรักษาและการดำเนินชีวิตได้ เช่น การดำเนินการทางทะเบียนราษฎร์ ติดตามหลักฐานเพื่อการใช้สิทธิ แยกผู้ป่วยออกจากครอบครัว รวมถึงการคุ้มครองเด็ก สตรี และผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
- สนับสนุนทางจิตสังคม นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่สนับสนุนทางจิตใจของผู้ป่วย เช่น การรับรู้ เข้าใจ และตอบสนองทางอารมณ์ความรู้สึก การสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วย เช่น การให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ การให้ข้อมูล ให้วัตถุสิ่งของ การยอมรับและการเห็นคุณค่า
- ฟื้นฟูทักษะทางสังคม นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่ฝึกทักษะทางสังคม สำหรับผู้ป่วยที่มีความบกพร่อง ความพิการ หรืออยู่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน เช่น ทักษะด้านสัมพันธภาพ การสื่อสาร การเผชิญหน้าและการแก้ไขปัญหา การดูแลสุขอนามัย การฝึกอาชีพ และการดูแลบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้ป่วยจะต้องใช้เมื่อกลับไปสู่สังคม หรือก่อนเข้าสู่สถานสงเคราะห์
- จัดหา ประสานทรัพยากรทางสังคม นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานภายในโรงพยาบาล และภายนอกภาครัฐ/ภาคเอกชน เพื่อสอบถามข้อมูล วางแผนบริการ/การรักษา ส่งต่อขอความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ
- ให้การสงเคราะห์ตามสภาพปัญหา นักสังคมสงเคราะห์มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ กายอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ เครื่องอุปโภค-บริโภค จัดหาทุนประกอบอาชีพ และจัดหาที่พักชั่วคราว